เลี้ยงปูนาสร้างรายได้
ในช่วง 3-4 ปีมานี้ วงการปศุสัตว์ภายในประเทศเกิดสัตว์ทางเลือกเศรษฐกิจที่สร้างรายใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรมากมาย หลายๆคนเลือกที่จะลาออกจากงานประจำกลับไปเริ่มอาชีพเกษตรกรที่บ้านเกิด โดยมีทั้งการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ กลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เราจะเห็นได้จากรายการสารคดีสร้างอาชีพต่างๆทั่วไป ทั้งทางหน้าจอโทรทัศน์ไปจนถึงใน Social Network ต่าง ๆ
ปูนาถือเป็นอีกหนึ่งสัตว์พื้นบ้านที่ก้าวเข้ามาเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในวงการปศุสัตว์ของบ้านเรา เนื่องจากเริ่มหายากจากในธรรมชาติ แต่มีความต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีต้นทุนการเลี้ยงไม่สูงสามารถเริ่มจากหลักร้อยกับภาชนะใส่น้ำใกล้ตัวที่หาได้ในบ้าน ส่งผลให้เริ่มมีผู้สนใจหันมาเพาะเลี้ยงปูนา กันสำเร็จมากมาย ทั้งนี้การเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ถือว่ามีต้นทุนไม่สูงมาก และหากประสบความสำเร็จก็จะมีผลผลิตที่ดีตลอดทั้งปี สร้างรายได้เสริมจนสามารถกลายเป็นรายได้หลักให้กับเกษตรกรหลายครัวเรือนในประเทศ วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการเลี้ยงปูนาเพื่อสร้างอาชีพ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้
ขั้นตอนการเลี้ยงปูนา
– เตรียมสถานที่ เริ่มจากการหาทำเลที่เหมาะสมเช่นเดียวกันกับการจัดหาทำเลเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ คือเป็นที่ร่ม อากาศถ่ายเท ยกพื้นสูงขึ้นประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปรับหน้าพื้นให้เรียบเสมอกัน ทั้งนี้หากมีทุนสามารถทำเป็นพื้นปูน และหลังคาได้ สถานที่ควรเป็นบ่อหรือภาชนะที่ใส่น้ำและสามารถติดตั้งระบบระบายน้ำได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการเลี้ยงทั้งในบ่อดี บ่อซีเมนต์ ร่วมไปถึงบ่อพลาสติก โดยขนาดบ่อเริ่มต้นควรมีขนาดประมาณ 2×3 เมตร เพื่อให้สามารถเลี้ยงในปริมาณที่เหมาะสม โดยหนึ่งบ่อสามารถเลี้ยงได้ตั้งแต่ 60 ถึง 180 ตัว
อีกทั้งยังสามารถจัดวางสภาพแวดล้อมที่ดีโดยในบ่อควรมีการจัดวางที่อยู่อาศัยให้กับปูโดยสามารถประยุกต์ใช้จากวัสดุทั่วไปในบ้านอาทิกระเบื้องมุงหลังค่าท่อพีวีซีอิฐบลอคหรือก้านมะพร้าวตามแต่ที่หาได้จัดวางอยู่ภายในบ่อโดยให้มีทั้งพื้นที่สำหรับบนบอกและในน้ำทั้งนี้ควรมีพืชน้ำใส่อยู่ด้วยเพื่อสร้างระบบนิเวศเลียนแบบที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติโดยพืชน้ำที่นิยมนำมาใส่มักเป็นผักตบชวาผักบุ้งและผักกะเฉดน้ำพืชเหล่านี้จะช่วยรักษาสภาพน้ำไม่ให้เน่าเสีย
– น้ำที่ใช้เลี้ยง สามารถใช้น้ำได้ทุกชนิด แต่หากเป็นน้ำประปาควรพักน้ำก่อนอย่างน้อย 3-4 วันเพื่อลดปริมาณคลอลีนที่มากับน้ำอันจะเป็นผลให้ปูน็อคเสียชีวิตได้ ในส่วนของการเปลี่ยนน้ำหากเลี้ยงในบ่อปูนหรือบ่อพลาสติก เนื่องจากปูเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่ในน้ำที่มีความสะอาด เราจึงควรดูแลความสะอาดของน้ำอยู่เสมอ โดยสามารถเปลี่ยนน้ำได้ในระยะเวลา 2-3 วันต่อหนึ่งครั้ง หรือสังเกตจากเศษตะกอนในพื้นบ่อหากพบว่าเริ่มมีจำนวนมากแล้วให้เปลี่ยนทันที ซึ่งในแต่ละครั้งก็ใช้น้ำในปริมาณที่ไม่มากจนน่ากังวลอะไร
–ลงปูนา ในส่วนของการเริ่มต้นนั้นเราสามารถหาปูพ่อแม่พันธ์ได้เองจากแหล่งธรรมชาติก็ได้ ข้อดีของการหาปูมาเลี้ยงเองตามธรรมชาติคือช่วยประหยัดต้นทุน และหากปูตายก็จะไม่เสียหายมาก อีกทั้งยังสามารถหามาเพิ่มได้ใหม่อีกเรื่อยๆ อีกหนึ่งช่องทางหากต้องการในจำนวนที่มากขึ้นก็อาจติดต่อขอซื้อพ่อแม่พันธุ์ได้จากฟาร์มต่างๆทั่วทั้งประเทศไทย ซึ่งมักจะมีปูพ่อแม่พันธุ์ขายอยู่แล้วโดยปกติ ข้อดีคือสามารถได้ในจำนวนมากอีกทั้งยังถูกพัฒนาสายพันธุ์มาแล้วทำให้ปูสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและอดทนได้ดีกว่า อีกทั้งพ่อแม่พันธุ์ปูหนึ่งคู่ก็มีต้นทุนไม่สูงมาก โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่คู่ละ 60-100 บาท สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุดในประเทศคือ ปูนาพันธุ์กำแพง เนื่องจากมีขนาดตัวที่ใหญ่ เนื้อเยอะ แข็งแรงและ ให้ผลผลิตดี
– การผสมพันธุ์ ปูนาโดยปกติตามธรรมชาติจะผสมพันธุ์เพียงแค่ปีละหนึ่งครั้งในฤดูฝน แต่ปัจจุบันในพื้นที่เพาะเลี้ยงสามารถบังคับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ปูผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด โดยปูนาแม่พันธุ์หนึ่งตัวสามารถให้ลูกได้สูงสุดถึง 500 ตัวเลยทีเดียว ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ควรเริ่มทำบ่อในการจำแนกช่วงวัยของปู ตั้งแต่บ่ออนุบาลปูแรกเกิดไปจนถึงบ่อผสมพันธุ์สำหรับพ่อแม่พันธุ์
– อาหาร ปูในช่วงแรกเกิดนั้นสามารเลี้ยงด้วยไข่แดงบดแต่เมือโตขึ้นมาแล้วก็สามารถให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปทั้งนี้ในแต่ละฟาร์มก็มักมีการผสมสูตรอาหารขึ้นมาใหม่เองเพื่อให้ไดผลลัพธ์ที่น่าพอใจตามที่แต่ละฟาร์มต้องการแต่ปัจจัยพื้นฐานก็ยังคงเป็นเหมือนกันทั่วประเทศคืออาหารเม็ดไม่ว่าจะเป็นอาหารปลาอาหารกุ้งหรือในปัจจุบันก็เริ่มมีการทำอาหารปูนาโดยเฉพาะออกมาวางจำหน่ายแล้วการให้อาหารควรให้เฉพาะมื้อเย็นเท่านั้นในปริมานที่ไม่มากเกินไปเพราะหากมีคราบน้ำมันมากเกินไปจะส่งผลให้น้ำเสียและปูตายได้
– การเก็บผลผลิต ปูนาจะสามารถเริ่มจับออกขายได้เมื่อมีอายุตั้งแต่ 2 เดือนครึ่ง ขึ้นไป จนถึงอายุ 6 เดือนก็จะสามารขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ โดยผลผลิตนี้สามารขายแบบสดโดยตรง หรือจะแปลรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าปูก็ได้ โดยในแต่ละรูปแบบก็จะได้ราคาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้มีข้อแนะนำคือปูนาจะอร่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาว
ปัจจุบันด้วยภัยจากหลากหลายรูปแบบส่งผลให้ปูนาเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงในธรรมชาติเป็นอย่างมาก การเพาะเลี้ยงปูนาจึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มต้นสร้างอาชีพ ทั้งนี้ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้มากขึ้น ทั้งจากในหนังสือต่างๆ หรือขอคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อเริ่มลงมือทำจริง