โรคผิวหนังต่าง ๆ ในกระต่าย
ในหมู่คนที่เลี้ยงสัตว์ทั้งหลายน่าจะทราบดีค่ะ ว่าสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เป็นโรคอ้วนได้ง่าย ก็คงหนีไม่พ้นเจ้ากระต่ายตัวนุ่มขนฟู ๆ นั่นเองค่ะ เรียกได้ว่าเห็นตัวเล็ก ๆ อยู่เมื่อวานผ่านไปแป๊บเดียว เปลี่ยนกรงไปสามไซส์แล้ว และในหมู่คนเลี้ยงกระต่ายก็คงจะทราบดีถึงโรคยอกฮิตในกระต่ายอีกโรคนึงนะคะ นั่นก็คือ โรคผิวหนังนั่นเอง โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เจ้ากระต่ายน้อยของเรามักจะมีอาการคัน ขนร่วง และอักเสบตามมา วันนี้เราจะมาแนะนำ 3 อันดับโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นกับกระต่ายได้บ่อยที่สุดและไปดูอาการและวิธีการดูแลรักษาเจ้ากระต่ายน้อยกันค่ะ
โรคที่ 1 คือ โรคผิวหนังอักเสบกะทันหันหรือเฉียบพลันนั้นเอง โรคผิวหนังแบบนี้ จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “สตาฟิลโลคอกคัส ออเรียส” หรือ “พาสจูเรลล่า มัลโตซิด้า” มักจะเกิดตามผิวหนังบริเวณหัวลำคอหรือทรวงอกซึ่งผิวหนังที่เกิดจะมีอาการอักเสบเฉียบพลันจะมีลักษณะบวมน้ำซึ่งเนื่องจากว่าเจ้ากระต่ายน้อยของเราค่อนข้างจะไม่ขี้โวยวายค่ะถึงแม้จะเจ็บปวดบริเวณผิวหนังจึงไม่ส่งเสียงอะไรตรงนี้ผู้เลี้ยงทั้งหลายต้องสังเกตกันให้ดีๆนะคะ
นอกจากสังเกตุบริเวณผิวหนังแล้ว ก็ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้อีก เช่น ไข้สูง 40-42 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการซึม ไม่กินอาหาร และยิ่งไปกว่านั้นหากเจ้ากระต่ายได้รับเชื้อแบคทีเรีย พาสจูเรลล่า ก็จะทำให้เกิดเป็นสะเก็ด อีกทั้งยังมีน้ำเมือกชุ่มบริเวณจมูกรามไปถึงใบหน้า ในกรณีนี้ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษา ต้องขอย้ำว่า ควรรีบนำกระต่ายไปรักษาค่ะ เนื่องจากกระต่ายที่หายป่วยจากผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน อาจพบได้ว่าเป็นฝีและเนื้อตายภายหลังได้
โรคที่ 2 โรคขนสีฟ้าพบได้มากสุดในกระต่ายที่มีน้ำหนักเยอะหรือเจ้ากระต่ายจ้อมอ้วนนั้นเองกระต่ายที่ป่วยเป็นโรคฟันมีน้ำลายไหลมากเป็นพิเศษรวมไปถึงกระต่ายที่ดื่มน้ำจากถ้วยจึงทำให้จมูกและปากเปียกแฉะตลอดและเกิดการอับชื้นได้ซึ่งเป็นเหตุให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ดีฟังจากชื่อคงจะสงสัยใช่ไหมคะว่าเกี่ยวอะไรกับจนสีฟ้าเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะเปลี่ยนสีขนของกระต่ายในบริเวณที่ชื้นแฉะให้กลายเป็นสีออกฟ้าๆซึ่งวิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะและทำให้ตัวกระต่ายแห้งอยู่เสมอค่ะ
และโรคสุดท้ายโรคชมอลล์ (Schmorl’s Disease) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอีกเช่นกันค่ะซึ่งแม้เราจะพบเจ้าเชื้อนี้ได้แค่ในมูลของกระต่ายแต่ก็สามารถทำให้เกิดโรคบนผิวหนังได้เนื่องจากบางทีกระต่ายอาจจะมีบาดแผลและไปสัมผัสกับมูลตัวเองจึงทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการบวมอักเสบเป็นฝีสุดท้ายก็เป็นแผลหลุมและเนื้อตายตามมาซึ่งวิธีการรักษาทำได้โดยการรักษาแผลให้ยาปฏิชีวนะจึงเป็นเหตุผลที่ผู้เลี้ยงควรหมั่นทำความสะอาดกรงกระต่ายอยู่เสมอๆค่ะ
ก่อนจะตัดสินใจเลี้ยงสัตว์ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนนะคะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเจ้าสัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆของเราค่ะ